การบาดเจ็บบริเวณรอบข้อเท้า เกิดได้จากการบาดเจ็บโดยตรงหรือการบาดเจ็บโดยอ้อม เช่น การถูกกระทบกระแทกของข้อเท้าต่อพื้นผิว หรือวัตถุแข็ง การกระแทกตามแนวดิ่ง หรือการบิดงอของข้ออย่างรุนแรง ทําให้เกิดการหักของกระดูกในบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกเปราะบาง กระดูกพรุน หรือผู้สูงอายุ
โดยลักษณะและความรุนแรงของการแตกหักของกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของการบาดเจ็บและความแข็งแรงของกระดูก นอกจากข้อมูลต่าง ๆ และอาการแสดงแล้ว แพทย์ต้องอาศัยภาพรังสีในการช่วยวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ได้แก่ ภาพถ่ายรังสี (Plain X-Ray) และ Computer Tomography Scan (CT Scan) ในการแตกหักของกระดูกที่ซับซ้อนหรือการแตกร้าวที่สังเกตได้ยาก
รักษากระดูกเท้าแตกหัก
การรักษาหลักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (Conservative Treatment) สามารถทําได้ในกรณีที่มีการแตกหักของกระดูกนั้น ๆ เมื่อติดแล้วไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนขยับ รับน้ำหนักตัว และการใช้งานเดิมของผู้ป่วย เช่น กระดูกร้าว หรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ หรือการแตกหักนั้น ๆ ไม่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วย เป็นต้น โดยศัลยแพทย์สามารถให้การรักษาโดยการใส่เฝือกหรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนขยับข้อเข่า และป้องกันการถ่ายลงน้ำหนัก จนกระทั่งกระดูกมีการเชื่อมติดที่แข็งแรงเพียงพอ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์
- การรักษาโดยการผ่าตัด (Operative Treatment) เป็นการรักษาในกรณีที่มีการแตกหักและเคลื่อนของผิวข้อ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรักษาโดยการใส่เฝือกได้ โดยในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านในและด้านนอกของข้อเท้าปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก (Open Reduction and Internal Fixation with Screws/ Plate and Screw) หรือการรัดลวดโลหะ (Tension Band Wiring) เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม ร่วมกับการทํากายภายเพื่อให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน ปัจจุบันมี เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจน และการทำภาพ 3 มิติในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัด